ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ออกมาแนะนำแล้วว่า
เด็กต่ำกว่า 2 ขวบควรหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอ พ่อแม่ยุคใหม่จึงต้องตระหนักถึงผลเสีย
ของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์กันสักนิด มาเช็กกันค่ะว่า 10 ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์
มีอะไรบ้าง พร้อมคู่มือแนะนำจากองค์การอนามัยโลกว่าเด็กเล็กอยู่หน้าจอได้นานแค่ไหน
วิธีเลี้ยงลูก ในยุคโซเชียลครองเมือง เราจะเห็นคุณพ่อคุณแม่บางท่านใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ตลอดจนคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูก
ภาพของเด็กหรือทารกดูมือถือ เล่นโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นภาพที่คุ้นชินสายตา แต่รู้ไหมคะ
ว่าการปล่อยให้ลูก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อยู่กับหน้าจอมากเกินไปจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
ใครมีลูกอยู่ในวัยนี้ ป้องกันไว้ก็ยังไม่สาย
ดังนั้นเรามาดูผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ในวัยก่อน 2 ขวบกันเลยดีกว่าค่ะ
ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ก่อน 2 ขวบ
1. ทักษะการพูดและการสื่อสารพัฒนาได้ช้า
โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเรียนรู้การพูดและภาษาจากคุณพ่อคุณแม่
หรือบุคคลรอบข้าง ด้วยการสังเกตรูปปากและเสียงที่เปล่งออกมา การเล่นโทรศัพท์มือถือ
หรืออยู่กับหน้าจอนาน ๆ จึงเป็นการลดโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารแบบตัวต่อตัวของเด็ก
2. ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย
เด็กในวัยนี้จำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อพัฒนาทักษะทางกาย ทั้งการเดิน
วิ่ง ขยับมือ หยิบจับสิ่งของ การให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ อยู่หน้าจอ
อาจทำให้ไม่ได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร
3. ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
เมื่อเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์ ลูกจะใจจดจ่ออยู่แต่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต
ส่งผลให้มีพฤติกรรมแยกตัว ขาดการพูดคุย ไม่ปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้าง
4. สมาธิสั้น
การให้ลูกดูสื่อต่าง ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือหน้าจอโทรทัศน์มากเกินไป
ลูกจะเห็นภาพและเสียงผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เสียสมาธิได้ เพราะไม่สามารถจดจ่อ
กับการดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลุล่วง อีกทั้งเสียงแจ้งเตือนต่าง ๆ ก็รบกวนสมาธิของเด็กเช่นกัน
5. จอประสาทตาถูกทำลาย
เด็กในวัยนี้ ตาและระบบการมองเห็นยังอ่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลง
จึงไม่ควรมองแสงที่สว่างมากเกินไป ซึ่งแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือสามารถ
ทำลายจอประสาทตาของเด็ก จนนำไปสู่โรคทางสายตา หรือจอประสาทตาเสื่อมได้
6. รบกวนการนอนหลับ
การให้ลูกเล่นหรือดูหน้าจอโทรศัพท์ก่อนนอน แสงจากหน้าจอที่สว่างๆจะส่งผล
ต่อการหลั่งฮอร์โมน”เมลาโทนิน” ที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ เนื่องจากการปล่อยฮอร์โมนดังกล่าว
จะขึ้นอยู่กับแสงสว่างเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นปัญหาต่อคุณภาพการนอนหลับ ทำให้เด็กนอนฝันร้าย
หรือนอนไม่หลับ ซึ่งมีผลทำลายการทำงานของเซลล์ประสาท ส่งผลระยะยาวไปถึงตอนโตได้
7. ปวดเมื่อยคอ
ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เด็กก้มมองจอโทรศัพท์ มักจะก้มคอราว 60 องศา
ซึ่งเป็นท่าที่ไม่เหมาะสม เพราะจะส่งให้เกิดอาการปวดคอได้หากก้มเป็นเวลานาน ๆ
8. ปวดหัว ปวดตา
การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน จะส่งให้ได้รับรังสี
จากคลื่นโทรศัพท์ที่แผ่ออกมามากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรังสีดังกล่าวอาจส่งผลต่อระบบประสาท
ทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา นั่นคือปวดศีรษะ ปวดตา หรือบางรายก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่านั้น
9. พฤติกรรมก้าวร้าว
หากเด็ก ๆ เล่นโทรศัพท์มือถือจนติด หรือพ่อแม่ใช้โทรศัพท์เป็นสิ่งหลอกล่อ
ให้เด็กทำตามคำสั่ง ผลเสียที่ตามมาก็คือเมื่อเด็กไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือในเวลาที่ต้องการ
มักจะเกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว เพราะไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งพบได้บ่อย
ในเด็กที่ติดเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ
10. จินตนาการหดหาย
จินตนาการในวัยเด็กเป็นของขวัญที่มหัศจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่ง แต่การปล่อยให้เด็กเรียนรู้
ผ่านรายการในโทรศัพท์หรือโทรทัศน์ ซึ่งมักจะบอกแนวความคิดว่าเด็กต้องทำอย่างไร
คิดอย่างไร ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ทำให้เกิดการจำกัดจินตนาการของเด็กๆ ได้
คำแนะนำ เด็กเล็กอยู่หน้าจอได้นานแค่ไหน
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดคู่มือแนะนำใหม่ขึ้นสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครอง
ในการควบคุมเวลาหน้าจอสำหรับเด็กเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า
เด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่ยังเดินไม่ได้
– ควรมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งรวมถึงการนอนคว่ำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
– ไม่ควรอยู่ในรถเข็น หรือผูกติดบนหลังใครนานกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง
– ควรนอนหลับให้ได้ 12-17 ชั่วโมงต่อวัน
– ไม่ควรอยู่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลย
เด็กอายุ 1-2 ขวบ
– ควรมีกิจกรรมทางกายวันละ 3 ชั่วโมง
– ควรนอนหลับอย่างน้อย 11-14 ชั่วโมง
– ไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง
เด็กอายุ 3-4 ขวบ
– ควรทำกิจกรรมทางกายวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวปานกลาง
ถึงแข็งแรงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
– ควรนอนหลับพักผ่อน 10-13 ชั่วโมง
– ไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง
เด็กเล็กสามารถคุย Video Chat กับเราได้ไหม
นอกจากนี้ สถาบันกุมารศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (The American Academy of Pediatrics)
ก็ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อหน้าจอในเด็กเช่นเดียวกันค่ะ ยกเว้นการคุยกันผ่านวิดีโอ (Video chat)
สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 1 ขวบครึ่ง – 2 ขวบ สามารถทำได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์
ระหว่างเด็กกับคนในครอบครัว ส่วนเด็กอายุระหว่าง 2-5 ขวบนั้น
ควรรับชมรายการที่มีคุณภาพเป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้ ในการให้ลูกใช้เวลาอยู่หน้าจอ คุณพ่อและคุณแม่ควรจะสกรีนเนื้อหาของรายการ
ที่ลูกดูก่อนทุกครั้ง และควรดูไปพร้อมกับลูก ๆ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจ มอบความรักความอบอุ่นแก่ลูกค่ะ
แต่ทางที่ดี Dr.Juana Willumsen ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก แนะนำเพิ่มเติมว่า
ผู้ปกครองควรนำการเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ๆ กลับมา ไม่ว่าจะเป็นการได้เคลื่อนไหวร่างกาย
การวิ่งเล่น การร้องเพลง การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง การต่อจิ๊กซอว์ เพื่อที่จะเปลี่ยนจากเวลาที่เด็กอยู่กับที่
ไปเป็นเวลาเล่น ซึ่งจะช่วยทำให้พวกเขานอนหลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ
ได้ออกกำลังกายและเสี่ยงต่อโรคอ้วนน้อยลงด้วยนั่นเองค่ะ
— ที่มา baby.kapook.com —