หลักแห่งชีวิต

        หลักแห่งชีวิต  

    ปัญหาของผู้คนในยุคปัจจุบันก็คือ การใช้ชีวิตอย่างไร้หลักการและจุดหมายเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจึงพบว่าที่ผ่านมาไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับโลกใบนี้เลย บทความนี้จึงขอเสนอหลักแห่งชีวิต 4 หลัก ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือ “ทำชีวิตให้ได้ดีและมีสุข” โดยดร.สนองวรอุไรดังนี้

 1. ชีวิตมักน้อย อันได้แก่ การบริโภคแต่น้อย การใช้สอยเครื่องใช้แต่เท่าที่จำเป็น แต่ต้องทำประโยชน์ให้มาก การกินมาก บริโภคมากตามความอยาก ย่อมจะทำให้ร่างกายต้องทำงานหนัก เป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ มากมาย ตรงกันข้าม หากเราบริโภคแต่น้อย ย่อมจะส่งผลให้ร่างกายเบาสบาย เอื้อต่อจิตใจที่สงบ

 2. ชีวิตสันโดษ หลายคนเข้าใจคำว่าสันโดษผิดไป คิดว่าคือความเกียจคร้านและไม่ทำอะไรเลย แต่แท้จริงแล้วคำว่าสันโดษคือการใช้ปัญญาทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ แต่พอใจในผลที่ได้รับตามอัตภาพไม่นำไปเปรียบเทียบกับใคร หลักการข้อนี้เป็นที่มาของความสุขที่ยั่งยืนของชีวิต

 3. ชีวิตมีสาระ ลองถามตัวเองว่าพฤติกรรมคิด พูด ทำ ของเรามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ทุกวันนี้เราตกเป็นทาสของอสาระ จึงทำให้เราต้องเหนื่อยยากแสวงหาเงินทองมาปรนเปรอกิเลส เพื่อซื้อสิ่งที่เป็นอสาระของชีวิต บางคนก็ตกเป็นทาสของอสาระทางใจ คือเก็บแต่สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ซึ่งเป็นเหมือนขยะเข้าไปถมในใจเต็มไปหมด วิธีกำจัดอสาระให้ออกไปจากชีวิตก็คือ เราต้องใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ สิ่งนี้เองที่จะนำมาซึ่งความมีสาระของชีวิตได้

 4. ชีวิตไม่เบียดเบียน การดำเนินชีวิตที่ไม่เบียดเบียนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การเบียดเบียนผู้อื่นก็เหมือนการเบียดเบียนตนเอง เพราะไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความเดือดร้อนที่สร้างไว้ให้ผู้อื่น จะย้อนมาส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรียบเรียงโดย

นางลดาวัลย์  กลีบเมฆ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

 

เกร็ดความรู้เรื่องปีนักษัตรของจีน
ทำไมต้อง "วอร์มอัพ"