12 วิธีช่วยจัดการเด็กในสมาธิสั้น สำหรับพ่อแม่

12 วิธีช่วยจัดการเด็กในสมาธิสั้น สำหรับพ่อแม่
หลายครั้งที่พ่อแม่อาจมีความลำบากในการดูแลเด็กสมาธิสั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกระเบียบวินัย ดังนั้นเรามาดูวิธีการดูแลเด็กกลุ่มนี้
และอาจยังปรับใช้สำหรับเด็กทั่วไปซึ่งอาจไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้นร่วมด้วยได้ครับ
1. ตั้งนาฬิกา-ตั้งเวลา : ลองใช้นาฬิกาเตือนตามเวลาที่เป็นจริง
เช่น เตือนเมื่อถึงเวลาทำงาน เตือนเมื่อหมดเวลาเล่น
หรือไม่ก็หานาฬิกาเรือนโตๆ มาให้เด็กเห็นได้ชัดๆ
จะช่วยเด็กให้กะประมาณเวลาได้ดีขึ้น

2. ชมแบบปืนไว : หัดเป็นคนพูดชมสั้นๆ หรือตบไหล่ตบหลัง
ทำนองชื่นชมเด็กทันทีที่เด็กเขาปฏิบัติตัวตามที่เราคาดหวัง
ยิ่งเร็วยิ่งทำให้เด็กภูมิใจอยากทำอีก หัดเป็นเสือปืนไวครับ

3. ชม ชม และชม : ทำให้เด็กซนสมาธิสั้นเหล่านี้รู้ให้ได้ว่า
อะไรที่เราอยากให้เป็น โดยการชมเด็กเหล่านี้
ต้องการคำชมบ่อยกว่าเด็กทั่วไป เพื่อช่วยนำเขาให้ประพฤติถูกทาง
ไปเรื่อยๆ จนทำงานได้ผลสำเร็จ หน้าที่ของพ่อแม่
คือ ชมเชยเขาเมื่อทำถูกทางแล้วนั่นเอง

4. ทำตัวเป็นเครื่องจักรจ่ายรางวัลง่ายๆ : เด็กพวกนี้ต้องการรางวัล
ที่จับต้องได้มากกว่าคำชมลอยๆ แต่รางวัล
ก็จะต้องทำให้ดูสำคัญสำหรับเขา นั่นคือคุณเองก็ต้องเป็น
คนสำคัญของเขาเช่นกัน ต้องหมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
เมื่ออยู่ด้วยกัน เมื่อได้รางวัลเล็กๆน้อยๆเขาจะดีใจ
และพยายามทำตัวดีขึ้น

5. เปลี่ยนรางวัลบ่อยๆ ให้ดูสนุก : วิธีนี้จะช่วยให้เด็กไม่เบื่อ
กับรางวัลเกินไป และจะคงพฤติกรรมดีๆไว้ได้
ลองให้เขาช่วยคิดตั้งรางวัลให้ตัวเองดู
(แน่นอน ในขอบเขตที่เป็นไปได้) ทำให้ดูว่าเป็น เรื่องไม่จำเจ
แม้จะให้เขาประพฤติตัวแบบเดิม

6. ลงมือ อย่าเอาแต่เหน็บหรือประชด : เด็กซนสมาธิสั้น
มีปัญหาที่การลงมือปฏิบัติไม่ใช่ความไม่เข้าใจ
ดังนั้นยิ่งคุณพูดมาก อธิบายยาว หรือเหน็บแนมประชดประชัน
มากเท่าไร จะยิ่งทำให้เด็กทำงานเสร็จช้าลงเท่านั้น
พยายามทำแค่เตือนสั้นๆ ให้รางวัลง่ายๆบ่อยๆ
แบบที่บอกข้างต้น โดยลดความจู้จี้ ย้ำซ้ำ และคำพูดไม่น่าฟังลง

7. แสดงออกในทางบวก : บอกสิ่งที่เราอยากให้เด็กทำในทางบวก
คิดให้ชัดเสียก่อนว่าเราอยากให้ทำอย่างไร แล้วบอกให้เขารู้
โดยมีรางวัลกระตุ้นความอยากบ้าง
อย่าลืมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันไว้ พอเริ่มทำไปได้สัก 2 อาทิตย์
อาจมาปรึกษาหมอหรือครูที่ปรึกษาดูว่า
ถ้าเด็กทำพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการ ว่าทำอย่างไร
การลงโทษจะได้ผลแค่ช่วงต้นๆ แต่มักล้มเหลว
ที่จะให้เขาทำดีในระยะยาว

8. จงเตรียมพร้อม : อย่างที่คุณรู้ เด็กพวกนี้มีปัญหาในเรื่องเก่าๆ
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่าเอาแต่เบื่อล่วงหน้า เตรียมตัวไว้ก่อนว่า
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างไร
ก่อนที่เด็กจะไปสถานการณ์เดิมๆอีก ควรทำดังนี้

ทวนข้อตกลงที่มี (ถ้ามี) 2-3 ข้อไว้ เด็กฟังแล้วให้เด็กพูดซ้ำ
ตั้งรางวัลหรือชมเชยเด็กเล็กๆน้อยๆทันทีที่เด็กทำตาม
ตั้งการลงโทษไว้ด้วยถ้าเด็กผิดข้อตกลง
พอเข้าสถานการณ์จริง สร้างความสัมพันธ์กับเด็กให้ดี
ตลอดที่เขาทำดี ให้รางวัลหรือลงโทษทันทีที่พฤติกรรมที่ดี
หรือไม่ดีนั่นๆเกิดขึ้น

9. จำเสมอว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น : โรคซนสมาธิสั้น
ทำให้เด็กหยุดตัวเองได้ยากขึ้น บางคนหยุดไม่ได้เลย
ถ้าไม่มีคนหยุดให้หรือช่วยฝึกวิธีหยุดให้เขา
แน่นอนโรคนี้สร้างปัญหาทั้งกับที่บ้าน, โรงเรียน
หรือ ทุกที่ที่ต้องการให้เขาหยุดพฤติกรรม
ความที่ “ห้ามล้อ” เขาเสียจะให้คนดูเขาว่า
เป็นเด็กที่คุมตัวเองไม่เป็น ไม่รักษาเวลา
บางคนจะดูเหมือนเด็กกว่าเพื่อนๆ

10. เลือกแต่เรื่องที่สำคัญน่าตอแยให้เหลือไม่มาก :
เราต้องมาเรียงลำดับว่า อะไรสำคัญก่อนหลัง
สำหรับเด็กและคุณ โดยเน้นให้เด็กช่วยตัวเองเป็น
เข้าสังคมได้ ผ่อนผันส่วนยังไม่สำคัญจำเป็น
เล็กน้อยตอนนี้ออกไปบ้าง เลือกแต่ส่วนใหญ่ๆก่อน

11. หยุดโทษตัวเอง หยุดโทษเด็ก : อย่านำปัญหา
ของตัวคุณไปใส่รวมกับของเด็กด้วย
ไม่มีวิธีการไหนที่ได้ผลทุกวัน ถ้าวันไหนเกิดไม่ได้ผล
อย่าเพิ่งโทษตัวเอง ว่าตัวเองเป็นพ่อแม่คนไม่ได้
เด็กซนสมาธิสั้นจะมีวันดีกับไม่ดี ขึ้นๆ ลงๆ
ความผันผวนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็นพ่อแม่ดีระดับไหน
แต่เป็นจากตัวโรคของเขาเอง
ต้องเน้นว่ามองหาแต่พฤติกรรมที่ดี

12. หัดให้อภัย : ก่อนนอนทุกวัน หัดให้อภัยยกโทษให้เด็ก
ถ้าเขาทำไม่ดีไว้ในวันนั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็น
ว่าเราอยากให้เขาดีจริงๆ นอกจากนี้
หัดยกโทษให้ตัวเองด้วย
ถ้าเราทำอะไรไม่เหมาะไปในวันนั้น
———————————–
บทความโดย: ผ.ศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์

BEST Practiceด้านการบริหารจัดการ การบริหารสถานศึกษาด้วยรูปแบบ SPC TEAM MODEL
ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ พร้อมคู่มือแนะนำจากองค์การอนามัยโลก